การทำกายภาพบำบัด Shock wave
คลื่นกระแทกจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อและพังผืดเกิดการบาดเจ็บใหม่ และเกิดกระบวนการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นใหม่อีกครั้ง พร้อม ๆ กับลดปริมาณของสารสื่อประสาทที่ส่งสัญญาณปวด และกระตุ้นให้สมองหลั่งสารลดปวดได้เร็วขึ้น จึงสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้อย่างมาก และเห็นผลทันทีหลังจากที่ทำการรักษา

ประเภทของเครื่องช็อคเวฟ
การทำกายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก หรือเครื่องช็อคเวฟนั้น จะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

Radial Shockwave Therapy
เป็นคลื่นกระแทกแบบแผ่กระจายออก โดยพลังงานจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ตามความลึกของเนื้อเยื่อ

Focus Shockwave Therapy
เป็นคลื่นกระแทกแบบโฟกัส สามารถส่งพลังได้ลึกและตรงจุดมากกว่าแบบแรก จึงมีประสิทธิภาพในการรักษาแบบเฉพาะจุดมากกว่า ซึ่งที่ The Commons Clinic เราเลือกใช้เครื่องช็อคเวฟประเภทนี้
ลักษณะอาการที่รักษาได้ด้วยคลื่นกระแทก หรือ เครื่องช็อคเวฟ
ตัวอย่างอาการที่สามารถทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูได้ด้วยคลื่นกระแทก เช่น
- อาการออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) เช่น ปวดหลัง ปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดข้อมือ
- อาการปวดสะโพกร้าวลงขา
- อาการปวดร้าวบริเวณสะบัก
- อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังจากการใช้มัดกล้ามผิดท่าทางซ้ำ ๆ
- อาการพังผืดทับเส้นประสาท
- อาการปวดเรื้อรังในบริเวณกล้ามเนื้อคอ บ่า หลัง
- อาการปวดข้อศอก
- อาการเอ็นอักเสบ ไม่ว่าจะเป็น เอ็นข้อศอก เอ็นหัวไหล่ เอ็นร้อยหวาย
- อาการรองช้ำ
- อาการข้อไหล่ติดจากเยื่อหุ้มข้ออักเสบ
- อาการพังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ ข้อเสื่อมอักเสบ และนิ้วล็อค
- อาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด
- อาการปวดไมเกรน
ขั้นตอนการรักษาด้วยคลื่นกระแทก หรือ เครื่องช็อคเวฟ
การทำกายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก หรือเครื่องช็อคเวฟ จะเป็นการยิงไปที่บริเวณที่ทำการรักษา และมีหน่วยเป็นช็อต โดยจำนวนช็อตจะขึ้นอยู่กับการประเมินของนักกายภาพบำบัดเป็นหลัก โดยจะมีขั้นตอนในการรักษา ดังนี้
- นักกายภาพบำบัดจะจัดท่าและตำแหน่งให้เหมาะสมกับการรักษา และใช้เครื่องช็อคเวฟยิงคลื่นกระแทกไปยังบริเวณกล้ามเนื้อ หรือเนื้อเยื่อที่มีอาการปวด
- ในขณะที่ยิง ผู้เข้ารับการรักษาจะได้ยินเสียงคล้าย ๆ เสียงแรงดันลมกระแทก และรู้สึกเจ็บตึงเล็กน้อยถึงปานกลางในบริเวณที่ยิง
- นักกายภาพจะทำการยิงจนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัว โดยบริเวณที่มีก้อนแข็งเกร็งขนาดไม่ใหญ่มาก จะยิงประมาณ 500 – 1,000 ช็อต ส่วนบริเวณที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อเป็นวงกว้าง หรือมีก้อนแข็งเกร็งหลายจุด จะยิงประมาณ 1,000 – 5,000 ช็อต
- หลังจากที่รักษาเสร็จแล้ว นักกายภาพบำบัดอาจให้ยืดกล้ามเนื้อ หรือประคบเย็นเพื่อลดการระบม และบรรเทาอาการปวด
- การทำกายภาพบำบัดด้วยเครื่องช็อคเวฟ ควรทำสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อให้กระบวนการซ่อมแซมของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเป็นไปอย่างเหมาะสม
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษาด้วยเครื่องช็อคเวฟ
การทำกายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก หรือเครื่องช็อคเวฟ ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำ ไม่ต้องงดอาหาร เพียงแค่นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำใจให้สบาย ๆ ไม่ต้องเครียด
การดูแลตนเองหลังทำการรักษาด้วยเครื่องช็อคเวฟ
หลังจากที่ทำการรักษาด้วยเครื่องช็อคเวฟแล้ว ควรยืดกล้ามเนื้อเพื่อลดการระบม หรือถ้าใครที่มีอาการบวมก็สามารถประคบเย็นด้วย Cold Pack หรือ Ice Massage เพื่อบรรเทาอาการได้ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการนวดในช่วง 2 – 3 วันแรกหลังทำช็อคเวฟ เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบมากขึ้นได้
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากรักษาด้วยคลื่นกระแทก หรือ เครื่องช็อคเวฟ
ผู้เข้ารับการรักษาอาจรู้สึกล้า หรือระบมในบริเวณที่ทำการรักษา ซึ่งสามารถประคบเย็นเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นได้ โดยอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายกลับมาเป็นปกติภายใน 1 – 2 วัน
ผลลัพธ์หลังรักษาด้วยเครื่องช็อคเวฟเป็นอย่างไร?
หลังจากที่รักษาด้วยเครื่องช็อคเวฟแล้ว ผู้เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่จะมีอาการปวดลดลงประมาณ 50%
หรือในบางรายที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อไม่รุนแรงมาก หรือเพิ่งเริ่มมีอาการ ก็อาจหายปวดได้ตั้งแต่การทำครั้งแรกเลย
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้เข้ารับการรักษาควรทำอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง
จนกว่าอาการปวดจะหายกลับมาเป็นปกติ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะอยู่ที่ 2 – 5 ครั้ง

ใครที่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยเครื่องช็อคเวฟได้?
หากคุณมีอาการปวดกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็นในกลุ่มต่าง ๆ อย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น สามารถไปพบนักกายภาพบำบัดเพื่อตรวจประเมินอาการได้เลย โดยนักกายภาพบำบัดจะวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลให้ ซึ่งอาจจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องช็อคเวฟ ร่วมกับเครื่องมืออื่น ๆ เช่น เครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า PMS หรือ การประคบร้อน เพื่อฟื้นฟูให้อาการปวดดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

ใครที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยเครื่องช็อคเวฟได้?
แม้ว่าเครื่องช็อคเวฟจะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดในการใช้งานในกลุ่มคนบางประเภทเหมือนกับเครื่องมืออื่น ๆ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ เช่น
- ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคผิวหนัง มีบาดแผลที่ผิวหนัง หรือมีการติดเชื้อที่ผิวหนังอยู่
- ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ลิ่มเลือดแข็งตัวช้า
- ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Peacemaker)
- เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี อาจจะต้องให้แพทย์ประเมินก่อน
- ไม่สามารถใช้เครื่องช็อคเวฟในบริเวณที่มีเส้นเลือดขอด เส้นเลือดอุดตัน บริเวณช่องท้อง หรือทรวงอก
สรุป สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก หรือ เครื่องช็อคเวฟ
การทำกายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก หรือ เครื่องช็อคเวฟ เป็นวิธีรักษาที่เหมาะกับคนที่มีอาการปวดเรื้อรัง ใช้ยาแล้วก็ไม่หาย ปวดกล้ามเนื้อมาก ๆ จนนอนไม่หลับ
ไม่สามารถนั่งทำงานได้ หรือผู้ที่เป็นโรครองช้ำมาก เพราะสามารถลดอาการปวดได้เกือบ 50% ตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูอาการบาดเจ็บให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
และทำให้ผู้เข้ารับการรักษามีคุณภาพชีวิตที่ดี